ขุนนาง


เจ้าพระยาพลเทพ (เฉลิม โกมารกุล ณ นคร)

ผลการค้นหารูปภาพ

มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพลเทพ นามเดิม ชิต (ภายหลังเปลี่ยนเป็น เฉลิม) เกิดในสกุล "โกมารกุล ณ นคร" เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2420 ( ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 ปีฉลู นพศก จุลศักราช 1239 ) เป็นบุตรของ พระยาศรีสรราชภักดี ( หนูเล็ก โกมารกุล ณ นคร ) กับ คุณหญิงเล็ก ศรีสรราชภักดี
เมื่อเยาว์วัย ได้ศึกษาในขั้นแรก ในสำนักเรียน พระศาสนโสภณ ( อ่อน ) วัดพิชยญาติการาม ธนบุรี จน พ.ศ. 2439 จึงได้ตามเสด็จ สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุขฯ ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ได้ศึกษาอยู่เป็นเวลา 5 ปี เดินทางกลับกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2443
ในปีที่กลับถึงเมืองไทย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการ ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ในตำแหน่งผู้ช่วยนายเวร ในกรมตรวจ และ กรมสารบัญชี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2443 และได้เลื่อนเป็นนายเวรบัญชีคลังหัวเมือง ในปีถัดมา
ถึง พ.ศ. 2445 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปรับราชการในตำแหน่งข้าหลวงสำรวจการพระคลัง มณฑลพายัพ ได้ออกไปปฏิบัติราชการ ณ ที่นั้น เกือบ 5 ปี จึงย้ายกลับมากรุงเทพฯ เพื่อรับตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดี กรมตรวจ และ กรมสารบัญชี
ถึง พ.ศ. 2454 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นอธิบดีกรมเก็บ ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ จนเมื่อ วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2458 ก็ได้เป็น อธิบดีกรมตรวจ และ สารบัญชี ในที่สุด ( กรมตรวจ และ สารบัญชีนี้ ต่อมาได้ขนานนามใหม่ว่า กรมบัญชีกลาง ) นอกจากนี้ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราตั้งเป็น องคมนตรี ด้วย
ท่านได้รับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มาด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และด้วยปรีชาสามารถ จนได้เป็นกรรมการสภาการคลัง และอธิบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ ทรงเล็งเห็นว่า มีความสามารถที่จะทำการในตำแหน่งอันสูง ณ กระทรวงอื่นๆได้ จึงมีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ตั้งแต่ เดือน เมษายน พ.ศ. 2466 ซึ่งท่านก็ได้รับราชการฉลองพระคุณด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จนกราบถวายบังคมลาออกจากราชการ ด้วยเหตุสุขภาพไม่สมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2473
อนึ่ง เมื่อมีการพระราชทานนามสกุลนั้น ท่านเจ้าพระยาพลเทพ เมื่อยังเป็นที่ พระยาไชยยศสมบัติ ได้เป็นผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทานนามสกุล จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยผู้หนึ่ง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานว่า "โกมารกุล ณ นคร"( เขียนเป็นตัวอักษรโรมันว่า Koma^rakul na Nagara ) สำหรับผู้สืบสายลงมาจาก เจ้าพระยามหาศิริธรรม ( เมือง ณ นคร ) นับเป็นนามสกุลที่ 253 ของประเทศไทย
ภายหลังออกจากราชการแล้ว ท่านเจ้าพระยาพลเทพ ก็ใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบ ณ บ้านเลขที่ 147 เยื้องตลาดแขก ตำบลขนุนกวน อำเภอบางยี่เรือ จังหวัดธนบุรี ซึ่งเป็นบ้านเก่าของตระกูล ตกทอดมาจากเจ้าพระยามหาศิริธรรม ( เมือง ณ นคร ) ปู่ของท่าน ( ซึ่งรับพระบรมราชโองการให้ย้ายจากนครศรีธรรมราช มารับราชการที่กรุงธนบุรีฯ และเลือกที่ดินผืนนี้ เพื่อให้อยู่ใกล้พระราชวังเดิม ) แวดล้อมไปด้วยญาติๆ และบรรดาข้าราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และ กระทรวงเกษตราธิการ ที่ท่านรับอุปการะ เป็นที่น่าเสียดายว่าบ้านหลังดังกล่าว ภายหลังเมื่อท่านถึงอสัญกรรมแล้ว ทายาทได้ขายให้ทางราชการไป กลายสภาพมาเป็นสถาบันราชภัฎธนบุรี ดังที่เห็นในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ท่านยังมีใจที่ใฝ่ในการกุศลอย่างแรงกล้า ได้บำรุงและก่อสร้างศาสนสถานตามวัดต่างๆ เช่นที่วัดอนงคาราม และ วัดบุปผาราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัดบุปผารามนั้น มีหลายสิ่ง ที่ยังปรากฏจนปัจจุบัน คือ หอระฆังและกลอง มีนามว่า "หออาณัติ" ซึ่งท่านสร้างอุทิศแก่ วราภา โกมารกุล ณ นคร ธิดาคนเล็ก ของท่าน ซึ่งถึงแก่กรรมแต่เยาว์วัย กับสร้างสนามหญ้าหน้าโรงเรียนปริยัติธรรมสินสุขะนิธิ ( สนามนี้ปัจจุบันไม่มีแล้ว ) กับยังรับอุปฐากภิกษุสามเณรในวัด นับแต่ พระอโนมคุณมุนี ( กล่อม อนุภาสเถระ ) เจ้าอาวาส ลงไป และเมื่อมีเวลาว่างยังพอมีกำลังเดินไปวัดได้ ก็อาจจะให้มีการประชุม นิมนต์สามเณรเล็กๆ มาโต้ธรรมวาที
นอกจากนี้ ท่านยังพยายามให้มีการแปลหนังสือธรรมะบางฉบับจากภาษาต่างประเทศ มาเป็นภาษาไทยด้วย เช่น นิมนต์พระพม่า วัดปรก มาสนทนาธรรมกับนายบุญมั่น โดนให้ นายบุญมั่น ถาม และพระพม่า วิสัชนา มีชวเลข คอยจด จนได้ออกเป็นหนังสือ ชื่อ "ทำไมมนุษย์จึงเคารพนับถือพระพุทธเจ้า" เล่มหนึ่ง กับเมื่อก่อนจะถึงอสัญกรรม ยังได้มอบให้หลวงไพจิตรวิทยาการ ( หม่อมหลวงไพจิตร สุทัศน์ ) แปลหนังสือธรรมะ ชื่อ Buddhist Meditation ของ G. Constant Lounsbery ขึ้นอีกเล่มนึง ซึ่ง สุชีโว ภิกขุ ( สุชีพ ปุญญานุภาพ ) ให้ชื่อเป็นภาษาไทยว่า "การบำเพ็ญฌานทางพระพุทธศาสนา" ยังคงเป็นหนังสือที่มีค่าในทางการศึกษาพุทธศาสนามาจนทุกวันนี้
งานอดิเรกของท่านนอกจากบำรุงพระศาสนาแล้ว ยังมีอีกหลายสิ่ง เช่น ต่อจิ๊กซอว์ , ฟังวิทยุคลื่นสั้นจากต่างประเทศ เช่น บีบีซี และ ออลอินเดียเร และที่สำคัญซึ่งท่านรักมาก คือ การเลี้ยงนกเขาชวา โดยมี พระศรีไกรลาศ และ ขุนสฤษดิ์รังวัดการ เป็นผู้ดูแลให้ท่าน
ท่านเจ้าพระยาพลเทพ เริ่มป่วยด้วยความชราภาพ ตั้งแต่เดือน สิงหาคม พ.ศ. 2489 ได้เชิญนายแพทย์ที่เชี่ยวชาญมาทำการรักษาพยาบาล แต่อาการก็ทรงและทรุดเรื่อยมา แต่ในยามมีทุกขเวทนานั้น ท่านก็สามารถระงับความเจ็บปวดได้จากธรรมะ ที่ท่านได้เพียรศึกษาและปฏิบัติมาเสมอ จนที่สุดได้ถึงอสัญกรรม เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 เวลา 23.25 นาที
ได้รับพระราชทานโกษฐ์ไม้สิบสอง ประกอบศพ เป็นเกียรติยศ ตั้งบำเพ็ญกุศล ณ บ้านตำบลตลาดแขก จนถึงวาระได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2490

พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายุคันธร กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์

กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์.jpg

           พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายุคันธร กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 12 แรม 11 ค่ำ ปีวอก จัตวาศก จ.ศ. 1174 ตรงกับวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2355 ในรัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนันตการฤทธิ์ เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น 13 ค่ำ ปีเถาะ นพศก จ.ศ. 1229 ตรงกับวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2410 สิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 5 เมื่อวันเสาร์ เดือน 8 อุตราษาฒ แรม 10 ค่ำ ปีมะโรง โทศก จ.ศ. 1242 ตรงกับวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2323 พระชันษา 69 ปี เป็นต้นราชสกุลยุคันธร

พระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์)


เลื่อม อภัยวงศ์.jpg

                 พระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) เป็นบุตรชายคนโตของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบองคนสุดท้าย กับ คุณหญิงสอิ้ง คฑาธรธรณินทร์ (อภัยภูเบศร) พระยาอภัยภูเบศร เป็นพระชนกในพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ ๖ และเป็นขรัวตาของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในรัชกาลที่ ๖

เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์)


เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์).gif
เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) เกิดเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2404 ที่เมืองพระตะบอง เป็นบุตรคนโตของเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย อภัยวงศ์) กับท่านผู้หญิงทับทิม (ธิดาเจ้าพระยามหาเสนา (น้อย) ลูกพี่ลูกน้องกับเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ต้นสกุลบุนนาค) บิดาได้นำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศึกษาราชการในสำนักสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จนได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นข้าราชการกรมมหาดเล็ก มีบรรดาศักดิ์เป็นนายรองเล่ห์อาวุธ รองหุ้มแพรมหาดเล็ก ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระอภัยพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยราชการเจ้าเมืองพระตะบองอยู่กับเจ้าคุณบิดา
เมื่อเจ้าพระยาคทาธรธรณินทร์ (เยีย) ถึงแก่อสัญกรรม จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาคทาธรธรณินทร์ ผู้สำเร็จราชการเมืองพระตะบอง สืบแทนบิดา ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 พระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ (ดั่น) สมุหเทศาภิบาลมณฑลเขมรถึงแก่อนิจกรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านเป็นทั้งสมุหเทศาฯ มณฑลบูรพา ควบกับผู้สำเร็จฯ เมืองพระตะบองทั้งสองตำแหน่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น "เจ้าพระยาอภัยภูเบศร บรมนเรศร์สวามิภักดิ์ สมบูรณ์ศักดิ์สกุลพันธ์ ยุตธรรม์สุรภาพอัธยาศรัย อภัยพิริยบรากรมพาหุ" มีตำแหน่งในราชการกระทรวงมหาดไทย ถือศักดินา 10,000 ไร่ เช่นเดียวกับเจ้าพระยาทั้งหลาย และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า ประถมาภรณ์ช้างเผือก ประถมาภรณ์มงกุฎไทย และเหรียญจักรพรรดิมาลา
ปี พ.ศ. 2450 ในขณะที่ไทยมีกรณีพิพาทอินโดจีนกับประเทศฝรั่งเศส ต้องแลกมณฑลบูรพากับเมืองตราดให้แก่ฝรั่งเศส ท่านตัดสินใจทิ้งยศถาบรรดาศักดิ์ ทั้งที่ฝรั่งเศสชวนท่านปกครองเมืองพระตะบองต่อ แต่ท่านกลับอพยพครอบครัวและบุตรหลานมาเป็นข้าราชการธรรมดา มาลาออกมาอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี ในปี พ.ศ. 2460 ได้ทรงพระมหากรุณาพระราชทานนามสกุลแก่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) และผู้สืบเชื้อสายต่อจากนั้นไปว่า "อภัยวงศ์" หลังจากนั้นท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ให้ประเทศชาติและจังหวัดปราจีนบุรีมากมาย เช่น บริจาคทรัพย์สร้างโรงเรียน โรงพยาบาล และที่สำคัญคือได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดแก้วพิจิตรที่เมืองปราจีนบุรี โดยเป็นผู้อำนวยการก่อสร้างและออกแบบเอง และนับเป็นวัดประจำสกุล "อภัยวงศ์"
ด้านอุปนิสัยส่วนตัว เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ชอบที่จะประกอบอาหารรับประทานด้วยตนเอง โดยส่วนมากจะเป็นอาหารที่มีส่วนประกอบของสมุนไพร จนกลายเป็นตำรับตกทอดมายังลูกหลานภายในตระกูลและกิจการในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประพาสเมืองปราจีนบุรี ก็ได้ยังเสวยพระกระยาหารที่ท่านเป็นผู้ปรุงอีกด้วย
เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ถึงแก่อสัญกรรมที่เมืองปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2465 สิริอายุ 61 ปี ได้รับพระราชทานโกศ โดยได้เชิญศพไปตั้งบนตึกที่ท่านสร้างไว้ และได้รับพระราชทานเพลิงศพที่เมรุวัดแก้วพิจิตร และเชิญอัฐิไปบรรจุไว้ที่ฐานพระอภัยวงศ์ ในพระอุโบสถ วัดแก้วพิจิตร เมื่อพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) ถึงแก่อนิจกรรม จึงเชิญอัฐิและอังคารมาไว้เคียงข้างอัฐิของท่านเจ้าพระยาฯ ได้รับพระราชทานสดับปกรณ์อัฐิและน้ำสุคนธ์สรงอัฐิในทุกวันสงกรานต์จากพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เมื่อพระนางฯ สิ้นพระชนม์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ก็ทรงพระราชทานมาสรงทุกวันสงกรานต์ และถ้าว่างจากพระภารกิจทั้งสองพระองค์ก็จะมาบำเพ็ญพระกุศลพระราชทานแก่เจ้าพระยาอยู่เนืองๆ

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)


{{{alt}}}


มเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ นามเดิม ช่วง บุนนาค (พ.ศ. 2351 – พ.ศ. 2425) เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ของสยามในสมัยรัตนโกสินทร์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการเมืองการปกครองของสยาม โดยเริ่มเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งนับเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่ง "สมเด็จเจ้าพระยา" เป็นคนสุดท้าย นอกจากนี้ ท่านยังมีบทบาทในการอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองสิริราชสมบัติและได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 - พ.ศ. 2416 ด้วย
นอกจากด้านการปกครองแล้ว ท่านยังมีบทบาทสำคัญในด้านวรรณกรรม การละคร และดนตรี รวมถึงเป็นแม่กองในการก่อสร้าง บูรณะ ซ่อมแซม สถานที่ต่าง ๆ มากมาย เช่น พระนครคีรี พระอภิเนาว์นิเวศน์ คลองผดุงกรุงเกษม เป็นต้น
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์มีชีวิตยืนยาวถึง 5 รัชกาล ตั้งแต่เกิดในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และถึงแก่พิราลัยด้วยโรคลมขณะที่กำลังเดินทางกลับจากราชบุรี เมื่อ พ.ศ. 2425 ในสมัยต้นรัชกาลที่ 5 โดยมีอายุยืนยาวถึง 74 ปี

พระยาศรีเสนา (ศรีเสนา สมบัติศิริ)

พระยาศรีเสนา (ศรีเสนา สมบัติศิริ) (? — 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2525) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการต่างประเทศ เอกอัครราชทูตไทยคนแรกประจำประเทศญี่ปุ่นและองคมนตรีไทย
พระยาศรีเสนา มีนามเดิมว่า ฮะ สมบัติศิริ ได้ศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ก่อนที่จะเป็นคนไทยกลุ่มแรกๆ ที่ไปศึกษาด้านการปกครอง ที่ London School of Economics ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2457  แล้วกลับมารับราชการในกระทรวงมหาดไทย ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงมหาดไทยคนแรก ระหว่าง พ.ศ. 2475 - 2478 (ก่อน พ.ศ. 2475 เรียกว่าตำแหน่ง ปลัดทูลฉลอง) เคยเป็นอัครราชทูตในหลายประเทศ และเป็นเอกอัครราชทูตไทยคนแรก ประจำกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2484 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 
พระยาศรีเสนา เคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ เมื่อ พ.ศ. 2487  รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อ พ.ศ. 2489 
พระยาศรีเสนา ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นองคมนตรี เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2501 ดำรงตำแหน่งจนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 
พระยาศรีเสนา มีบุตรชายคือคุณพินิจ สมบัติศิริ สมรสกับนางสาวเลอศักดิ์ เศรษฐบุตร (ท่านผู้หญิง เลอศักดิ์ สมบัติศิริ) บุตรสาวบุญธรรมของพระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) และคุณหญิงสิน 

พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน อหะหมัดจุฬา)

พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน อหะหมัดจุฬา).jpg

พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน อหะหมัดจุฬา) เป็นบุตรพระยาจุฬาราชมนตรี (นาม) กับคุณหญิงกลิ่น ธิดาพระยารามัญวงศ์ (มะโดด) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2391 บิดานำเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กตั้งแต่อายุ 18 ปี เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กเวรศักดิ์ มียศเป็นนายฉลองไนยนารถ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านย้ายมาเป็นขุนนางกรมท่าขวา และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงราชเศรษฐี ระหว่างนี้ก็ศึกษากฎหมายด้วย
ครั้นถึงรชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระราชเศรษฐี และเมื่อบิดาถึงแก่กรรมจึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระยาจุฬาราชมนตรี เจ้ากรมท่าขวา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2432 นอกจากนั้นยังเป็นผู้พิพากษาศาลคดีต่างประเทศในกระทรวงยุติธรรมอีกตำแหน่งหนึ่ง ท่านเป็นข้าราชการที่สนิทชิดเชิ้อกับรัชกาลที่ 5 เป็นพิเศษ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และพานทองเทียบชั้นเจ้าพระยาพานทอง เมื่อท่านเจ็บป่วยก็โปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงมาดูแลรักษา
พระยาจุฬาราชมนตรี (สิน) ถึงแก่กรรมเมื่อ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2453 รวมอายุ 65 ปี รัชกาลที่ 5 โปรดให้มีการแห่ศพทางน้ำอย่างสมเกียรติ พระราชทานไม้นิซ่านปักที่หลุมศพของท่านและทรงเป็นประธานในพิธีฝังศพด้วยพระองค์เอง

หม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร)

Mom Rajodaya (photo by Francis Chit).jpg

หม่อมราโชทัย นามเดิม หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร (12 มิถุนายน พ.ศ. 2363 - 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2410) เป็นบุตรของพระวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชอุ่ม กรมหมื่นเทวานุรักษ์ เป็นนัดดาของสมเด็จพระสัมพันธวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเกศ กรมขุนอิศรานุรักษ์ และสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ 2 เป็นปนัดดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ซึ่งเป็นพระพี่นางในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร เกิดตอนปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อเจริญวัย บิดาได้นำไปถวายตัวอยู่กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นยังดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ สมมุติเทวาวงศ์ พงศาอิศวรกระษัตริย์ ขัตติยราชกุมาร เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎผนวช หม่อมราชวงศ์กระต่ายก็ได้ตามเสด็จไปรับใช้ ต่อมาเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎทรงสนพระราชหฤทัยในภาษาอังกฤษ หม่อมราชวงศ์กระต่ายก็ได้ศึกษาตามพระราชนิยม โดยมีมิชชันนารีที่เข้ามาสอนศาสนาเป็นผู้สอน จนได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้ภาษาอังกฤษดี จนเจ้าฟ้ามงกุฎทรงใช้ให้เป็นตัวแทนเชิญกระแสรับสั่งไปพูดจากับชาวต่างชาติได้เป็นอย่างดี
ครั้นเมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมราชวงศ์กระต่ายก็ติดตามสมัครเข้ารับราชการ ความสามารถของหม่อมราชวงศ์กระต่ายที่ช่วยราชกิจได้ดี จึงได้รับพระราชทานเลื่อนอิสริยยศเป็น "หม่อมราโชทัย" และด้วยความรู้ในภาษาอังกฤษดี พ.ศ. 2400 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราโชทัยเป็นล่ามหลวงไปกับคณะราชทูตไทยที่เชิญพระราชสาสน์และเครื่องมงคลราชบรรณาการ เดินทางไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย การเดินทางไปในครั้งนั้นเป็นที่มาของหนังสือนิราศเมืองลอนดอน ซึ่งแต่งหลังจากเดินทางกลับได้ 2 ปี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราโชทัยขึ้นเป็นอธิบดีพิพากษาศาลต่างประเทศเป็นคนแรกของไทย
หม่อมราโชทัยถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ. 2410 ขณะมีอายุ 47 ปี พิธีพระราชทานเพลิงศพจัดขึ้นที่เมรุวัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2410

พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง)


         พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) เป็นขุนนางสำคัญมากทีเดียว เป็นที่โปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ อย่างยิ่ง ตรัสเรียกว่า เจ้าศรีทองเพ็งบ้าง เจ้าศรีบ้าง เป็นที่ทราบกันทั่วไป เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลแก่ลูกหลานของพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) จึงพระราชทานว่า ศรีเพ็ญโดยทรงประสมต้นราชทินนามกับท้ายชื่อจริงเข้าด้วยกัน
            เคยเล่าแล้วว่า ที่พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ได้ชื่อว่า ขุนคลังแก้วในรัชกาลที่ ๓ นั้น มิใช่ท่านเรียกเอง หรือชาวบ้านเรียก หากแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ทรงยกย่อง ตามที่ปรากฏในพระบรมราชปุจฉา เมื่อครั้งพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิลาส กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงพระอาลัยโทมนัสมาก จึงทรงตั้งพระบรมราชปุจฉาในที่ประชุมพระสงฆ์ราชาคณะเถรานุเถระ ๖๐ รูป ว่าเพราะเหตุใด นางแก้วในรัชกาลของพระองค์จึงสิ้นพระชนม์ แต่พระชนม์ยังน้อยเพียงสามสิบกว่า รวมทั้ง ขุนคลังแก้วของพระองค์ ซึ่งเพิ่งสิ้นชีวิตไปก่อนหน้านี้ไม่นานนัก
            ในพระบรมราชปุจฉา ตอนหนึ่งว่า
             “โยมมีเบญจพละ ๕ ประการ คือ ๑. มีบ่อแก้ว ๒. มีช้างแก้ว ๓. มีนางแก้ว ๔. มีขุนพลแก้ว ๕. มีขุนคลังแก้ว 
              
๑. ที่โยมว่ามีบ่อแก้วนั้นคืออ้ายภู่ (พระยาราชมนตรี ชื่อเดิมว่า ภู่เป็นข้าหลวงเดิมในรัชกาลที่ ๓ เป็นบิดาของ คุณพุ่ม บุษบาท่าเรือ และเป็นต้นสกุล ภมรมนตรี-จุลลดาฯ) 
              
๒. ที่โยมว่ามีช้างแก้วนั้น คือ พระยาช้างเผือกของปู่และบิดาของโยมเอง 
             
 ๓. ที่โยมว่ามีนางแก้วนั้น คือโยมมีพระราชธิดาพระองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิลาศกรมหมื่นอัปษรสุดาเทพ เป็นพระราชปิยธิดาเสน่หาอเนกผลของพระราชบิดา  
                    
๔. ที่โยมว่ามี ขุนพลแก้ว นั้น คือ พี่บดินทรเดชา (เจ้าพระยาบดินทรเดชา นามเดิมสิงห์ ต้นสกุล สิงหเสนี-จุลลดาฯ) 
                    
๕. ที่โยมว่ามีขุนคลังแก้วนั้น คือเจ้าศรีทองเพ็ง
            บัดนี้นางแก้วกับขุนคลังแก้วมาล่วงลับดับเบญจขันธ์สังขารไปสู่ปรโลกแต่พระชนม์และอายุยังน้อย ยังบ่มิสมควรจะถึงซึ่งกาลกิริยาตายฉะนี้เล่าทั้งสองคน ยังเหลืออยู่แต่บ่อแก้วคือ ไอ้ภู่ กับขุนพลแก้วคือ พี่บดินทรเท่านั้น เป็นที่เปล่าเปลี่ยวเศร้าใจของโยมยิ่งนักหนา หรือว่าโยมจะมีบุพพอกุศลกรรมอยู่บ้างประการใด ในบุเรชาติปางก่อนบ้างจึงได้มาตามทันในปัจจุบันชาตินี้...” 

         
      บิดาของพระยาศรีสหเทพ ชื่อ ทองขวัญ เป็นบุตรชายของหลวงรักษ์เสนา (จำรัส)
           หลวงรักษ์เสนา (จำรัส) เป็นน้องชายต่างมารดาของนายบุนนาค (เจ้าพระยามหาเสนา ต้นสกุลบุนนาค)   นายทองขวัญจึงเป็นหลานอาของเจ้าพระยามหาเสนา (บุนนาค) นั่นเอง   และเป็นลูกผู้น้องของสมเด็จพระเจ้าพระยามหาประยุรวงศ์ กับสมเด็จเจ้าพระยามหาพิชัยญาติ
           
นายทองขวัญนั้นเป็นลูกศิษย์ของสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก แต่ครั้งทรงเป็นพระอักษรสาส์นเมื่อ ปลายกรุงศรีอยุธยา จึงติดตามเสด็จไปด้วยตลอดเวลา ครั้งกรุงแตกได้ติดตามสมเด็จพระปฐมฯ ไปยังเมืองพิษณุโลก และอยู่ปรนนิบัติจนกระทั่งสิ้นพระชนม์ ได้ร่วมกับกรมหลวงจักรเจษฐา (พระนามเดิมว่าลา พระราชอนุชาต่างพระชนนีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ) เชิญพระอัฐิมาถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ แต่ครั้งยังทรงรับราชการในกรุงธนบุรี
             จึงนับว่า นายทองขวัญเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ  ออกจะแปลกอยู่ที่นายทองขวัญ ผู้ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิม ได้รับใช้ใกล้ชิดพระองค์ในรัชกาลที่ ๑ แม้ไปรบทัพจับศึกเมืองเขมรก็ตามเสด็จไปด้วย ถึงกับโปรดตั้งให้เป็นว่าที่พระยาราชนิกุล (ขณะป่วยเป็นหลวงราชเสนาอยู่)  ทว่ามาแต่งงานกับธิดาของเจ้าพระยารามจตุรงค์ (ต่อไปจะเรียกว่าพระยารามัญวงศ์ ตามปากชาวบ้าน) ซึ่งถูกประหารชีวิตเมื่อสิ้นพระราชวงศ์กรุงธนบุรี โดยขอตายไม่ยอมอยู่รับราชการ ดังที่ทราบๆ กันอยู่ 
           ส่วนมารดาของพระยาศรีสหเทพ ชื่อ ทองขอน เป็นธิดาของพระยารามจตุรงค์ ตำแหน่งจักรีกรุงธนบุรี หลังจากเจ้าพระยาจักรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) เสด็จขึ้นดำรงพระเกียรติยศ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกแล้ว            (พระยารามจตุรงค์นี้ ชาวบ้านเรียกกันหลายอย่าง เรียกว่า พระยารามัญวงศ์ ตามบรรดาศักดิ์เดิมบ้าง เรียกว่า จักรีมอญบ้าง สุดแล้วแต่สะดวกปาก ที่จริงตำแหน่งของท่านเทียบเจ้าพระยาอัครเสนาบดีบางแห่ง ดังเช่นในราชินิกุลรัชกาลที่ ๓ จึงเรียกท่านว่าเจ้าพระยารามจัตุรงค์)
            พระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) จึงเป็นหลานตาของเจ้าพระยารามจตุรงค์ หรือพระยารามัญวงษ์ (รามัญวงศ์) หรือบางคนในสมัยกรุงธนบุรีเรียกท่านว่า จักรีมอญ
           พวกมอญที่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารแต่สมัยอยุธยา ธนบุรีและกรุงเทพฯนั้น เข้ามากันหลายครั้งหลายหน            ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะพวกมอญที่ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมาอยู่กรุงธนบุรีเมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว
            มอญเหล่านี้ พวกหัวหน้าที่ใกล้ชิดพระองค์ ช่วยสู้รบและรู้จักคุ้นเคยกันมาแต่สมัยกรุงเก่า โปรดฯให้อยู่บริเวณคลองใกล้ๆ กับพระราชวัง ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า คลองมอญหัวหน้าพวกนี้ก็คือพระยารามจตุรงค์ ซึ่งมีน้องสาว ๒ คน ท้าวทรงกันดาล (ทองมอญ) และท่านแป้น (เอกภรรยาของพระยาพัทลุงคางเหล็กเชื้อสายสุลัยมาน)
            ส่วนอีกพวกหนึ่ง โปรดฯให้ข้ามไปอยู่พระนครธนบุรีฟากตะวันออก แถบคลองคูเมือง (ที่ต่อมาเรียกกันผิดๆจนบัดนี้ว่าคลองหลอด)            ตามที่ปรากฏในหนังสือวงศ์ตระกูล ซึ่งพระยาสัจจาภิรมย์อุดมราชภักดี (สรวง ศรีเพ็ญ) เล่าเอาไว้นั้น ได้เล่าถึงเรื่องพระยารามัญวงศ์ ว่า  “นายชำนาญ (ทองขวัญ) ได้แต่งงานกับทองขอนบุตรีพระยานครอินทร์ พระยานครอินทร์นี้ เมื่อครั้งแผ่นดินพระที่นั่งสุริยามรินทร์รัชกาลที่ ๓๓ แห่งพระนครศรีอยุธยา (พระเจ้าเอกทัศน์) ได้เป็นที่สมิงนระเดชะ ชื่อตัวว่า มะทอเปิ้น เป็นนายกองรามัญ กรมอาษาทะมาตย์ ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าตากสิน ได้ตั้งให้เป็นพระยานครอินทร์ แล้วเลื่อนให้เป็นพระยาและเจ้าพระยารามจตุรงค์ หรือบางแห่งก็เรียกว่า พระยารามัญวงษ์ (จักรีมอญ ก็เรียกกัน) นามตัวของท่านว่าชื่อ มะโดด หรือมะซอน...มะซอนผู้นี้แหละที่เป็นทหารคู่พระทัยของพระเจ้าตากสิน และได้ตายพร้อมกันกับพระเจ้าตากสิน...” 
            ชื่อตัวของเจ้าพระยารามจตุรงค์ หรือพระยารามัญวงศ์นี้ ดูจำกัดมาหลายชื่อ มะทอเปิ้นคงเป็นชื่อมอญ มะโดดหรือ มะซอนอาจเป็นชื่อใหม่หรืออาจจำกันมาผิดเพี้ยนไปบ้าง 
            ในหนังสือราชินิกุล รัชกาลที่ ๓ พระนิพนธ์สมเด็จพระบรมราชปิตุลาบรมพงศาภิมุขฯ ว่า เจ้าพระยารามจตุรงค์ชื่อเดิมว่า ซวนแต่ครั้นในหนังสือราชินิกุล รัชกาลที่ ๕ พระนิพนธ์พระองค์เดียวกัน (อาจเรียงพิมพ์ผิด) เป็น ชวน'
          ทว่าอย่างไรก็ตาม นามเดิมของท่านจะว่ากระไรก็แล้วแต่ ที่แน่นอนคือ ท่านเป็น เจ้าพระยารามจตุรงค์ ว่าที่จักรี จึงเรียกกันว่า จักรีมอญ อย่างแน่นอน ส่วนที่เรียกกันว่า พระยารามัญวงศ์ นั้น เรียกตามบรรดาศักดิ์ก่อนเป็นเจ้าพระยารามจตุรงค์ แล้วคงจะเลยติดปาก เพราะยังไม่คุ้นกับบรรดาศักดิ์
            ครั้นถึงแผ่นดินรัตนโกสินทร์ที่ ๑ นายทองขวัญได้เป็นหลวงราชเสนา และได้สมรสกับท่านทองขอน ธิดาของจักรีมอญ จึงได้รับพระราชทานที่บ้านให้อยู่ในถิ่นพวกมอญฟากตะวันออก พวกมอญเคารพนับถือจักรีมอญอยู่แล้ว หลวงราชเสนาและท่านทองขอนจึงเป็นที่นับถือในหมู่ชาวมอญเหล่านี้จนกระทั่งตกมาถึงพระยาศรีสหเทพ ฯ เรียกว่า “ สี่กั๊กพระยาศรี ”




























ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม